News Ticker

การแปลประโยคที่มีส่วนขยาย

การแปลประโยคที่มีส่วนขยาย

ปัญหาของการแปลส่วนใหญ่แล้วก็คือจะงง ว่าส่วนไหนขยายส่วนไหนกันแน่ กริยาแท้คือคำไหน ตกลงประเด็นหลักคืออะไร วันนีเรามาดูกันนะครับจะแปลอย่างไรไม่ให้งง

เริ่มจากลองอ่านประโยคต่อไปนี้ดู

“ชายหนุ่มที่ถูกจับกุมเมื่อวานนี้เป็นนักโทษที่เพิ่งแหกคุกมาก่อนหน้านี้”

เมื่อท่านเห็นประโยคดังกล่าวแล้ว กรณีเป็นภาษาไทยคงไม่ยากที่จะทำความเข้าใจ แต่หากประโยคดังกล่าวเขียนในรูปของภาษาอังกฤษเชื่อว่าถ้าเป็นการเรียนในขั้นเรียน อาจารย์จะต้องถามว่า กริยาหลักของประโยคข้างต้นคืออะไร

เจอคำถามนี้เข้าหลายคนก็เกิดอาการงง ยิ่งถ้าตอบไปแล้วอาจารย์ย้ำว่าแน่ใจหรือนี่จะยิ่งทำให้งงใหญ่ สำหรับคนที่ตอบไม่ถูกนี่ถือว่าการวิเคราะห์ประโยคนี่ยังทำไม่ได้ดีพอ ไม่น่าแปลกใจหรอกนะครับที่จะอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง

ตกลงคำกริยาหลักของประโยคข้างต้นคืออะไรกันแน่ ระหว่าง จับกุม เป็น หรือว่าแหกคุก

เฉลยก็คือ
คำกริยาหลัก คือ เป็น

ภาคประธาน คือ ชายหนุ่มที่ถูกจับกุมเมื่อวานนี้
ประธานหลัก คือ ชายหนุ่ม
ส่วนขยายประธาน คือ ที่ถูกจับกุมเมื่อวานนี้

ภาคกริยา คือ เป็นนักโทษที่เพิ่งแหกคุกมาก่อนหน้านี้
กลุ่มหลักของกริยา คือ เป็นนักโทษ
กลุ่มคำขยายกริยา คือ ที่เพิ่งแหกคุกมาก่อนหน้านี้

เราจะเห็นได้ว่า ในกรณีภาษาไทยเราจะใช้คำว่า ที่… ซึ่ง…. อัน…. เป็นตัวคำขึ้นต้นส่วนขยาย การจับใจความประโยคเหล่านี้เราจึงต้องเข้าใจถึงประธานหลักและกริยาหลักของประโยคให้ได้ จึงจะสามารถแปลได้อย่างชัดเจนไม่เข้ารกเข้าพง

ประโยคตัวอย่างข้างต้นเลยอาจจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า

The man who was arrested yesterday is a prisoner who has just escaped from jail previously.

ผู้เขียนพยามแต่งประโยคภาษาอังกฤษให้ตรงกับความหมายภาษาไทยที่สุดแล้ว เพราะความจริงแล้วอาจจะเขียนได้ในอีกหลายลักษณะนะครับ

จะเห็นได้ว่าประโยคหลักที่ไม่มีส่วนขยายก็คือ

The man is a prisoner

โดยเรามีส่วนขยายสองส่วนคือ

ส่วนที่ขยาย The man – who was arrested yesterday
ส่วนที่ขยาย prisoner – who has just escaped from jail previously

จะเห็นได้ว่าส่วนขยายประโยคทั้งสองแบบนั้นจะมีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งเราจะแยกประเด็นในการพิจารณาดังนี้นะครับ

ส่วนขยายที่เป็นแบบ Passive

จากตัวอย่างประโยคข้างต้น ส่วนขยายของ The man คือ who was arrested yesterday นั้นเป็นลักษณะที่เราเรียกว่าเป็นการ ถูกกระทำ หรือ passive voice ซึ่งมีโครงสร้างเป็น

Verb to be + V3

จากตัวอย่างข้างบน เวลาแปลเป็นไทยเราจึงใส่คำว่า “ถูก” เข้าไป ซึ่งจะทำให้ได้ใจความสอดคล้องกับภาษาอังกฤษพอดี เนื่องจากประธาน ถูกจับ ไม่ใช่ ประธานไปจับคนอื่น

ตัวอย่างประโยคในลักษณะนี้ก็คือ
I like the present that was given to me.
ฉันชอบของขวัญที่ถูกนำมาให้ฉัน

They are looking for the car which was stolen earlier.
พวกเขากำลังหารถที่ถูกขโมยไปก่อนหน้านี้

ส่วนขยายที่เป็นแบบ Active

จากตัวอย่างประโยคข้างต้น ส่วนขยายของ prisoner คือ who has just escaped from jail previously นั้นเป็นลักษณะที่เราเรียกว่า ประธาน กระทำเอง หรือ active voice ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างของประโยคทั่วๆไป

การแปลประโยคลักษณะนี้จึงมีลักษณะปกติ ที่เราแปลประธาน + กริยา แล้วตามด้วยส่วนขยาย

ตัวอย่างประโยคในลักษณะนี้เช่น
The woman who is sitting there is my friend.
ผู้หญิงที่นั่งอยู่ตรงนั้นคือเพื่อนของฉัน

The car that is running towards here is not mine.
รถที่กำลังวิ่งตรงมาที่นี่ ไม่ใช่รถของฉัน

จากทั้งสองลักษณะของส่วนขยาย เราจะต้องมองให้ออกว่าส่วนขยายนั้นเป็นแบบ Active หรือ Passive การแปลจึงจะได้ความหมายถูกต้อง

 

sentense-extension

บทความข่าว หรือวิชาการ

แต่ปัญหาไม่ใช่แค่ประเด็นข้างต้นเท่านั้น หากเราอ่านข่าวหนังสือพิมพ์​ หรือบทความวิชาการ ซึ่งมีเนื้อที่ในการเขียนจำกัด เขาก็จะไม่เขียนประโยคทั้งหมดแบบเต็มๆ แต่จะละไว้ในฐานที่เข้าใจ หากเราเอาประโยคข้างต้นมาพิจารณาเราอาจจะเขียนย่อๆได้ดังนี้คือ

กรณีประธาน ถูกกระทำ

– I like the present that was given to me.
เขียนอย่างย่อเป็น
– I like the present given to me.

– They are looking for the car which was stolen earlier.
เขียนอย่างย่อเป็น
– They are looking for the car stolen earlier.

กระณีประธาน กระทำเอง

– The woman who is sitting there is my friend.
เขียนอย่างย่อเป็น
– The woman sitting there is my friend

– The car that is running towards here is not mine.
เขียนอย่างย่อเป็น
– The car running towards here is not mine.

จะเห็นได้ว่าเมื่อเราเจอข้อความที่ลดรูป อาจจะทำให้เราแยกแยะกริยาแท้ของประโยคได้ยาก หากเราไม่แม่นยำเรื่องไวยากรณ์เราอาจจะมองว่า กริยาเติม ing หรือ กริยาที่เป็นช่อง 3 คือกริยาแท้เอาได้ แต่เราจะพบว่าหากมันเป็นกริยาแท้ กริยา ing จะต้องตามหลัง verb to be เพื่อเป็น continuous tense และ กริยาช่อง 3 ควรจะต้องตามหลัง verb to have เพื่อเป็น perfect tense หรือ ตามหลัง verb to be เพื่อเป็น passive voice เท่านั้น

หากเราเข้าใจประเด็นตรงนี้ จะทำให้เราสามารถแยกกริยาแท้ของประโยคได้อย่างถูกต้อง การแปลจึงมีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเรื่องการลดรูปนี้เราเรียกว่า participle

Participles

ตัวอย่างการลดรูปข้างต้นนั้น เราเรียกว่าเป็น participle โดยมีจุดสังเกตคือ
– ประธานถูกกระทำ แล้วลดรูป เราเรียกว่า past participle
– ประธานกระทำเอง แล้วลดรูป เราเรียกว่า present participle

ซึ่งเรื่องนี้ได้นำเสนอไว้ต่างหากแล้วในห้วข้อของ participle