News Ticker

ศธ.ยกระดับภาษาอังกฤษเด็กไทย เตรียมอบรมเข้มครูไทย 500 คน โดย 50 เทรนเนอร์ต่างชาติ

ศธ.ยกระดับภาษาอังกฤษเด็กไทย เตรียมอบรมเข้มครูไทย 500 คน โดย 50 เทรนเนอร์ต่างชาติ

เมื่อวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ณ ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงศึกษาธิการ – นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าว เตรียมอบรมการสอนภาษาอังกฤษครั้งใหญ่ของประเทศสำหรับครูผู้สอนชาวไทย 500 คน โดยเทรนเนอร์ชั้นนำจากต่างประเทศ 50 คน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เริ่มต้นกุมภาพันธ์ปีหน้า

ปฏิเสธไม่ได้เลิกจ้างครูต่างชาติในไทย

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการจะเลิกจ้างครูชาวต่างชาติเข้ามาสอนภาษาอังกฤษในไทย ทำให้หลายหน่วยงาน เช่น สถานทูตประเทศต่างๆ รวมทั้งสำนักข่าวต่างประเทศ เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่มีแม้แต่ประโยคเดียวที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะเลิกจ้างครูชาวต่างชาติ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่จ้างครูชาวต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษ จึงได้จัดการแถลงข่าวในครั้งนี้ขึ้น เพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกัน และถือโอกาสชี้แจงความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตรด้วย

ซึ่งนโยบายดังกล่าว, นายไมเคิล เดวิด เซลบี ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ จะเข้ามาช่วยวางระบบในการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษของเด็กไทย

ภาษาอังกฤษ : เครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นในการติดต่อสื่อสารยุคโลกาภิวัตน์

นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ กล่าวว่า ภาษาเป็นเรื่องที่อ่อนไหว เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรม แม้ภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ในบ้านเราเป็นภาษาที่ดีภาษาหนึ่ง แต่โลกปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนเป็นโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่จะต้องมีการติดต่อสื่อสารกัน และยังเป็นสังคมโลกที่มีการแข่งขันสูง

ดังนั้น เครื่องมือหนึ่งที่จะใช้ในการแข่งขันได้คือ “ภาษา” โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันบนโลกใบนี้ เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักที่ใช้ในด้านการทูต การค้า การศึกษา วิทยาการต่างๆ การกีฬา และการท่องเที่ยว ทำให้ประเด็นการยกระดับภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น ไม่ว่าเราจะชอบภาษาอังกฤษหรือไม่ชอบก็ตาม

สิ่งสำคัญให้เด็กอยากเรียน คือ สร้างแรงบันดาลใจและให้เห็นความจำเป็น

ในอดีตที่ผ่านมา ได้มีแนวทางดำเนินการยกระดับภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทยมาแล้ว แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อาศัยอยู่ในชนบทจะไม่มีแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ และเมื่อขาดแรงบันดาลใจก็ทำให้เด็กรู้สึกเบื่อที่จะเรียนภาษาอังกฤษ หรืออาจจะคิดว่าไม่ต้องเรียนเลยก็ได้

ในประเด็นนี้, นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ อธิบายว่า “การสร้างแรงบันดาลใจ” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการเรียนภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่แรงบันดาลใจควรเกิดขึ้นในการเรียนวิชาอื่นด้วยเช่นกัน หากเด็กอยากเก่งวิชาไหน ครูต้องสื่อสารกับเด็กนักเรียนให้เข้าใจ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนให้เด็กเห็นถึงความจำเป็นให้ได้

หากกระทรวงรู้ปัญหาแต่ไม่ใส่ใจ ก็เปรียบเสมือนเป็นอาชญากรรม

กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีแนวคิดและโครงการต่างๆ มากมายที่ช่วยยกระดับพัฒนาผู้เรียนด้านภาษาอังกฤษ โดยสิ่งแรกที่จะดำเนินการ คือ การทำให้คนสนใจภาษาอังกฤษ ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจผ่านสื่อต่างๆ และพุ่งเป้าไปที่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาอังกฤษ แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ก็คือครู เพราะหากครูไม่สนใจ หรือไม่สามารถสื่อสารกับนักเรียนให้เข้าใจได้ ก็คงยากที่จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือความสนใจให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียนได้

ปัจจุบัน มีหลายกระแสที่ว่าครูไม่เปลี่ยนวิธีการสอน แต่เดิมเคยสอนแบบไหนก็ยังคงวิธีการสอนแบบนั้น, นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ ย้ำว่าไม่จริง กระทรวงศึกษาธิการไม่มีความเชื่อดังกล่าว จึงมีความพยายามที่จะพัฒนาวิธีการสอนของครู ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเรื่องใดๆ ก็ตาม รวมทั้งนโยบายนี้ก็เช่นกัน ในระยะแรกอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัญหาดังกล่าวหรือประสบความสำเร็จได้ 100% แต่การไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่แย่ยิ่งกว่า ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นอาชญากรรมด้วยซ้ำไป

eng-reform-news

ย้ำปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ที่ครู แต่อยู่ที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ

สำหรับการแก้ปัญหาด้านการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยนั้น ยอมรับว่าต้องใช้เวลาชั่วอายุคน การแก้ปัญหาต้องอาศัยหลายปัจจัย เช่น การฝึกหัดครู การเลี้ยงดูเด็ก และวิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งไม่ได้แปลว่าครูปัจจุบันไม่ดี แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงครูเมื่อ 20 ปีที่แล้วให้มีการสอนภาษาอังกฤษที่ดีขึ้นได้ กล่าวคือ เราไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำในอดีต หากเราให้เครื่องมือที่ดีกับครู และสามารถทำให้เด็กสนใจภาษาอังกฤษได้ ก็จะสามารถยกระดับภาษาอังกฤษได้ ถึงแม้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดก็ตาม

เตรียมเทรนเนอร์ชั้นนำ 50 คน เพื่ออบรมครูไทย 500 คนใน 6 สัปดาห์

ส่วนแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการสอนภาษาอังกฤษในรูปแบบใหม่ ขณะนี้ได้เตรียมการจัดอบรมครูผู้สอนภาษาอังกฤษของไทยจำนวน 500 คน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2559 โดยจะใช้ภาษาอังกฤษตลอดระยะเวลาการอบรม ซึ่งจะทำให้ครูผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีแนวคิดและแนวทางการสอนภาษาอังกฤษเพื่อนำไปพัฒนาการสอนในชั้นเรียนได้ (Supercharge) จากเทรนเนอร์ (Trainer) ที่เป็นเจ้าของภาษา (Native Speakers) จำนวน 50 คน ซึ่งมาจาก British Council และหน่วยงานอื่น

ที่สำคัญ เทรนเนอร์ชาวต่างประเทศทั้ง 50 คน จะต้องมีประสบการณ์ในการสอนและฝึกอบรมในประเทศต่างๆ มาแล้ว (Hi-end Trainers) ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยดำเนินการมาก่อน

หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม กระทรวงศึกษาธิการจะทำการคัดเลือกผู้เข้าอบรมเฉพาะ 50 ลำดับแรก (Top 50) จาก 500 คน เพื่อนำมาฝึกอบรมกับเทรนเนอร์ และพัฒนาให้ครูกลุ่มนี้เป็นเทรนเนอร์ให้กับผู้เข้าอบรมรุ่นต่อไปในอนาคต

สำหรับสถานที่อบรม อาจจะเป็น Asian University ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องสถานที่อบรม ที่พัก สามารถรองรับได้มากกว่า 500 คน โดยนโยบายนี้จะใช้งบประมาณในการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการไม่มากนัก เพราะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการสนับสนุนงบประมาณ อาทิ มูลนิธิยุวสถิรคุณ เป็นต้น

ภายหลังอบรม จะประเมินพัฒนาการด้านภาษาอังกฤษของนักเรียนทั้ง 500 โรง

นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ กล่าวด้วยว่า คุณสมบัติของครูผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 500 คนนั้น จะต้องเป็นครูที่มีคุณภาพและสามารถสื่อสารได้ดีในระดับหนึ่ง (Medium Functional Level) และการคัดเลือกครูผู้เข้ารับการอบรม จะไม่มุ่งเน้นเฉพาะครูในกรุงเทพฯ เพราะประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่จะต้องกระจายไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ

ภายหลังการอบรม ก็จะมีการประเมินการนำความรู้และวิธีการสอนที่ได้รับจากการอบรมไปสอนที่โรงเรียนต้นสังกัดเป็นระยะเวลา 1 ภาคเรียน เพื่อดูว่านักเรียนมีพัฒนาการด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร และนำผลจากการศึกษาไปพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหาเพื่อการอบรมครั้งต่อไป

ศธ.ให้ความสำคัญกับการนำร่องและประเมินผล ก่อนที่จะประกาศเป็นนโยบายใดๆ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการเริ่มต้นทดลองนำร่อง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะเฝ้าดูการปรับเปลี่ยนผลสำคัญที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นเวลา 1 ภาคเรียน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ก่อนที่จะประกาศเป็นนโยบายดำเนินการทั่วประเทศในภาคเรียนถัดไป, ไม่ใช่ประกาศนโยบายออกไปแล้ว ล้มเหลวทั้งประเทศ ประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งแนวคิดนี้ได้รวมถึงนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ด้วย

หวังให้พึ่งตัวเองในการสอนภาษาอังกฤษได้มากขึ้นในระยะยาว

ในระยะยาว, กระทรวงศึกษาธิการต้องการเพิ่มจำนวนครูผู้สอนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งครูผู้สอนชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยวางแผนให้ครูผู้สอนชาวไทยจะต้องพึ่งตัวเองได้ เพราะชาวต่างชาติทุกคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ ไม่ได้หมายถึงว่าบุคคลเหล่านั้นจะสามารถสอนภาษาอังกฤษได้ดี ยกตัวอย่างเช่น ชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวแบบ Backpacker อาจจะพูดภาษาอังกฤษได้แต่ไม่สามารถสอนภาษาอังกฤษได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงการสอนรายวิชาอื่นๆ เป็นภาษาอังกฤษด้วย เช่น วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นต้น

ส่วนเชิงนโยบายในการจ้างครูต่างชาติเข้ามาสอนในสถานศึกษาของไทยนั้น รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้เราเป็นโลกเสรี หากสถานศึกษาใดๆ ที่มีความประสงค์จะจ้างครูชาวต่างชาติมาสอน ก็ไม่ได้ห้าม เพียงแต่ควรเป็นครูผู้สอนที่มีคุณภาพ

ดังนั้น การดำเนินโครงการนี้ ก็เพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษของครูชาวไทยให้สูงขึ้นเพื่อรองรับปริมาณโรงเรียนกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจะได้พึ่งพาชาวต่างชาติน้อยลงในระยะยาว

เตรียมพร้อมโครงการภาษาอังกฤษเฉพาะวิชาชีพ สำหรับเด็กอาชีวะ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการยังมีอีกโครงการที่ต้องการยกระดับและพัฒนาภาษาอังกฤษแก่ผู้เรียนอาชีวศึกษา ซึ่งมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันและดำเนินการคู่ขนานกันไป คือ โครงการภาษาอังกฤษเฉพาะวิชาชีพ (Vocational English) โดยมีการจัดทำคลังคำศัพท์ของแต่ละวิชาชีพ อาทิ ด้านการแพทย์การพยาบาล การบิน และการท่องเที่ยวและการโรงแรม ฯลฯ ส่วนการยกระดับผู้เรียนภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษา ก็จะมีการแถลงข่าวในโอกาสต่อไป

“กระทรวงศึกษาธิการ มีความคาดหวังว่านโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร จะประสบความสำเร็จ โดยเราต้องรู้หน้าตา รูปแบบ และผลลัพธ์ของความสำเร็จ กล่าวคือ การที่โครงการจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องมีการกำหนดรูปแบบของผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับ และต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน นั่นคือการทำให้ครูชาวไทยพูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น และมีความมั่นใจในการสื่อสารภาษาอังกฤษมากขึ้น รวมถึงการปรับวิธีการสอนให้มีความน่าสนใจ และทำให้เด็กอยากเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าในอดีต”

ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

ภาพข่าวจาก
http://www.thaigov.go.th/index.php/th/news-ministry/2012-08-15-09-39-20/item/97494-%E0%B8%A8%E0%B8%98%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-500-%E0%B8%84%E0%B8%99-%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2-50-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4.html